การรักษาความปลอดภัยบนระบบเครือข่าย
องค์กรจำนวนมากได้สร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานในองค์กร มีการใช้มาตรฐานเดียวกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เราเรียกเครือข่ายเฉพาะในองค์กรนี้ว่า อินทราเน็ต อินทราเน็ตเชื่อมโยงผู้ใช้ทุกคนในองค์กรให้ทำงานร่วมกัน มีการกำหนดการทำงานเป็นทีมที่เรียกว่า เวอร์กกรุป แต่ละทีมมีระบบข้อมูลข่าวสารของตน มีสถานีบริการข้อมูลที่เรียกว่า เซิร์ฟเวอร์ การทำงานในระดับเวอร์กกรุปจึงเน้นเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม เช่น ทีมงานทางด้านการขาย ทีมงานทางด้านบัญชี การเงิน การผลิต ฯลฯ
อินทราเน็ต ได้รวมทีมงานต่าง ๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน เป็นเครือข่ายขององค์กร มีการแลกเปลี่ยนและใช้ข้อมูลร่วมกัน ใช้ทรัพยากรทางคอมพิวเตอร์ร่วมกัน มีระบบการทำงานที่เรียกว่า เวอร์กโฟล์ว (workflow)
อย่างไรก็ดี การทำงานขององค์กรมิได้กำหนดขอบเขตเฉพาะภายในองค์กรเท่านั้น หลายองค์กรนำเครือข่ายอินทราเน็ตของตนเองเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อให้การทำงานเชื่อมโยงกับองค์กรอื่นได้ การทำงานร่วมกับองค์กรอื่นเป็นหนทางของการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อความรวดเร็ว ความสะดวกสบายในการทำงาน องค์กรจำนวนมากมีโฮมเพ็จของตนเองเพื่อการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ มีการรับใบคำสั่งซื้อจากภายนอก หรือให้บริการหลังการขายโดยตรงทางเครือข่าย
เมื่อนำเครือข่ายอินทราเน็ตขององค์กรเชื่อมเข้าสู่เครือข่ายสาธารณะ ย่อมมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของข้อมูลและระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กร การรักษาความปลอดภัยจึงเป็นระบบที่ต้องคำนึงถึง ถึงแม้ว่าจะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายของระบบก็จำเป็นต้องทำ เพราะหากเกิดปัญหาในเรื่องข้อมูลข่าวสารหรือการรั่วไหลของข้อมูลแล้ว ความสูญเสียจะมีมากกว่า
ระบบการรักษาความปลอดภัยขั้นพื้นฐานที่มีในขณะเรียกเข้าหาระบบคือ รหัสพาสเวิร์ด หรือรหัสผ่าน ในการล็อกอินเข้าสู่ระบบ เช่น เรียกใช้เซิร์ฟเวอร์เพื่อขอข้อมูลข่าวสาร จำเป็นต้องทราบว่าใครเป็นผู้เรียกเข้าหา โดยให้ผู้เรียกป้อนรหัสพาสเวิร์ด ผู้ใช้ทุกคนจะมีรหัสเฉพาะของตน จำเป็นต้องให้ผู้ใช้กำหนดรหัสที่ยากต่อการถอดโดยผู้อื่น โดยหลักการพื้นฐานควรกำหนดรหัสนี้ให้มีความยาวไม่น้อยกว่า 8 ตัวอักษร ควรให้มีการผสมระหว่างตัวอักขระพิเศษและตัวเลขด้วย เช่น mypo@123! ไม่ควรนำเอาคำศัพท์ในพจนานุกรม หรือใช้ชื่อ ใช้วันเกิด เพราะรหัสเหล่านี้ง่ายต่อการถอด อย่านำรหัสนี้ให้กับผู้อื่น และควรเปลี่ยนรหัส เมื่อใช้ไปได้ระยะเวลาหนึ่ง
ไฟร์วอล เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่บรรจุไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จัดให้เป็นทางผ่านเข้าออก เพื่อป้องกันการแปลกปลอมของแฮกเกอร์ภายนอกที่จะเจาะเข้าระบบ และยังควบคุมการใช้งานภายใน โดยกำหนดสิทธิ์ของแต่ละบุคคลให้ผ่านออกจากระบบได้ ดังนั้นเมื่อมีการนำเอาเครือข่ายอินทราเน็ตขององค์กรเชื่อมต่อกับเครือข่ายสาธารณะ เช่น อินเทอร์เน็ต ระบบไฟร์วอลจึงเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่ใช้ในการป้องกันและรักษาความปลอดภัย
โดยปกติมักใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งทำหน้าที่เป็นไฟร์วอล เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนี้จะมีการเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายสองด้าน ด้านหนึ่งเชื่อมกับอินทราเน็ต อีกด้านหนึ่งเชื่อมกับ อินเทอร์เน็ต ดังนั้นจึงเป็นเสมือนยามเฝ้าประตูทางเข้าออก เพื่อตรวจสอบการเข้าออกของบุคคล
ไฟร์วอลจะควบคุมสิทธิ์ และติดตามการใช้งาน เช่น กำหนดให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ได้ในกรอบที่จำกัด และเมื่อเข้ามาก็จะติดตามการใช้งาน หากมีความพยายามจะใช้เกินสิทธิ์ เช่น การ ล็อกออนไปยังเครื่องที่ไม่มีสิทธิ์ก็จะป้องกันไว้ ขณะเดียวกันอาจเป็นตัวตรวจสอบเอกสารหรือข้อมูลบางอย่าง เช่น จดหมาย หรือแฟ้มข้อมูล
ระบบของไฟล์วอลมีหลายระดับ ตั้งแต่การใช้อุปกรณ์สื่อสาร เช่น เราเตอร์ทำหน้าที่เป็น ไฟร์วอล เพื่อควบคุมการติดต่อสื่อสาร หรือป้องกันผู้แปลกปลอม จนถึงขั้นการใช้คอมพิวเตอร์ที่มีซอฟต์แวร์ ไฟร์วอลอันทรงประสิทธิภาพ
เมื่อมีการโอนย้ายข้อมูลระหว่างกัน โดยเฉพาะการโอนย้ายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็น เครือข่ายสาธารณะ ผู้ใช้จะไม่ทราบเลยว่าข้อมูลที่รับส่งกันนั้นผ่านไปที่ใดบ้าง เช่น เมื่อเราส่งใบสั่งซื้อที่มีรหัสหายเลขบัตรเครดิตไปยังบริษัทร้านค้าที่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา ข้อมูลของเราอาจผ่านไปยังที่ต่าง ๆ หลายแห่ง อาจมีผู้ไม่หวังดีแอบคัดลอกข้อมูลของเราไว้ก็ได้ ปัญหาเช่นนี้ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการดำเนินธุรกิจ เป็นผลทำให้ระบบธุรกิจบนเครือข่ายยังไม่เติบโตเท่าที่ควร
ในขณะนี้จึงมีการใช้วิธีเข้ารหัส โดยผู้ส่งข้อมูลจะใช้โปรแกรมที่ทำการแปลงข้อมูลจากข้อความเดิม ให้เป็นรหัสที่ไม่มีความหมาย เราเรียกวิธีนี้ว่า เอนคริปชัน (Encryption) เอนคริปชัน จะกวนข้อมูล ทำให้ส่งข้อมูลอย่างเป็นความลับบนเครือข่ายได้ ถึงแม้จะมีผู้ลักลอบคัดลอกไปก็จะอ่านไม่รู้เรื่อง
เมื่อถึงปลายทาง ผู้ที่มีรหัสพิเศษที่ตกลงกันไว้ ที่เรียกว่า คีย์ จะทำการถอดรหัสนี้ได้ ผู้รับจะใช้โปรแกรมถอดรหัสโดยใส่ตัวอักขระที่เป็นคีย์ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่รับข้อมูลจะเปลี่ยนข้อมูลกลับไปเป็นข้อความปกติ วิธีการทางด้านรับข้อมูลนี้เรียกว่า ดีคริปชัน (Decryption)
การเข้ารหัสจึงต้องมีคีย์ ซึ่งเสมือนเป็นกุญแจที่ล็อกข้อมูลไว้ ผู้รับต้องใช้กุญแจที่ตรงกันจึงจะไขดูข้อมูลได้ จึงมีวิธีการกำหนดกุญแจซึ่งเป็นรหัสและใช้งานร่วมกัน มีทั้งที่ใช้แบบมีกุญแจที่เรียกว่า มาสเตอร์คีย์และคีย์เฉพาะ เทคนิคเหล่านี้ได้พัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นไปมาก
บนอินเทอร์เน็ต มีวิธีที่ใช้ในการเอนคริปชันอยู่หลายวิธี วิธีที่ได้รับความนิยมและเป็นวิธีที่เสนอให้สาธารณะใช้ได้ คือ PGP PGP ย่อมาจาก Pretty Good Privacy PGPทำให้ข้อความที่ส่งไปเป็นความลับ ข้อความที่ใช้อาจเป็นอีเมล์ เป็นใบสั่งซื้อ เป็นแฟ้มข้อมูล PGP ใช้วิธีการที่ดี และใช้งานได้ผล เพราะวิธีการเอ็นคริปชันของ PGP เป็นวิธีการที่แฮกเกอร์ถอดรหัสได้ยาก
นอกจากวิธีการนี้แล้ว ปัจจุบันมีการพัฒนาคลิปเปอร์ชิป (clipper chip) ซึ่งเป็นวงจรฮาร์ดแวร์ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเข้ารหัส เพื่อใช้ในการสื่อสารกันบนอินเทอร์เน็ต คลิปเปอร์ชิปได้รับการเสนอโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ชิปนี้ได้จัดทำขึ้นโดยที่ทางรัฐบาลสามารถถอดรหัสนี้ได้ ทำให้เกิดการโต้เถียงกันมากว่า รัฐบาลสหรัฐฯสามารถติดตามการติดต่อสื่อสารบนอินเทอร์เน็ตได้หมด อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลสหรัฐฯ ก็อ้างว่า รัฐบาลจะถอดรหัสข้อมูลตามคำสั่งศาลเท่านั้น
ถึงแม้ว่าจะใช้วิธีการทางด้านการเข้ารหัสเอ็นคริปชัน และดีคริปชันแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยได้ร้อยเปอร์เซนต์ การสร้างกฎระเบียบและวินัยของบุคลากรในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ การเชื่อมโยงเครือข่ายเป็นหนทางให้ใช้งานได้สะดวก แต่ก็เป็นเส้นทางที่ผู้แปลกปลอมจะใช้เป็นทางเข้าระบบได้ง่าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น